วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บรรพ 5 ครอบครัว
การหมั้น
1.ชายและหญิงคู่หมั้นต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ (ม.1435) ถ้าการหมั้นกระทำโดยฝ่าฝืนมาตรา 1435 ผลคือ การหมั้นตกเป็นโมฆะ (ม.1435 ว.2)
2. ผู้เยาว์ทำการหมั้นจะต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองด้วย (มาตรา 1436) ถ้าการหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าว การหมั้นนั้นตกเป็นโมฆียะ
แบบของการหมั้น
การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งหมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น (มาตรา 1437) สัญญาหมั้นเป็นสัญญาพิเศษผิดกับสัญญาธรรมดา ฉะนั้น หากมีการหมั้นแต่ฝ่ายชายไม่มีของหมั้นมามอบให้หญิงแล้ว แม้จะมีการผิดสัญญาหมั้นก็จะฟ้องเรียกค่าทดแทนฐานผิดสัญญาหมั้นไม่ได้
ของหมั้น
ลักษณะสำคัญของของหมั้นจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ
1.ต้องเป็นทรัพย์สิน (สิทธิเรียกร้อง ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาเป็นของหมั้นได้)
2.ต้องเป็นของที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่หญิง
3.ต้องให้ไว้ในเวลาทำสัญญาและหญิงต้องได้รับไว้แล้ว
4.ต้องเป็นการให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นและต้องให้ไว้ก่อนสมรส ถ้าให้เมื่อหลังสมรสแล้วทรัพย์นั้นไม่ใช่ของหมั้น
การรับผิดตามสัญญาหมั้น
เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชายด้วย (มาตรา 1439)
สินสอด
เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส (มาตรา 1437 ว.3)
ผลของการหมั้น
1. สิทธิเรียกค่าทดแทนจากคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่ง (ม.1440)
1.1 ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
1.2 ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดา มารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะบิดา มารดา ได้ใช้หรือต้องตกเป็นลูกหนี้ เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
1.3 ค่าทดแทนความเสียหายที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพ หรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควร ด้วยคาดหมายว่าจะมีการสมรส
2. สิทธิเรียกค่าทดแทนจากชายอื่น ถ้าหากชายอื่นมาล่วงเกินหญิงคู่หมั้น
2.1 การที่ชายอื่นร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้น โดยหญิงคู่หมั้นยินยอมมีหลัก คือ (ม.1445)
(1) ชายอื่นร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้น
(2) ชายอื่นนั้นรู้หรือควรรู้ว่าหญิงได้หมั้นกับชายคู่หมั้นแล้วและรู้ด้วยว่าชายคู่หมั้นเป็นใคร
(3) ชายคู่หมั้นได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้ว
2.2 การที่ชายอื่นข่มขืนหรือพยายามข่มขืนกระทำชำเราหญิงคู่หมั้น มีหลัก คือ (ม.1446)
(1) ชายอื่นจะต้องรู้ว่าหญิงมีคู่หมั้นแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าชายคู่หมั้นเป็นใคร
(2) ชายคู่หมั้นไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาหมั้นก่อน
ข้อสังเกต หญิงคู่หมั้นไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มาล่วงเกินชายคู่หมั้นทางประเวณี จะนำมาตรา 1445 และมาตรา 1446 มาอนุโลมใช้บังคับไม่ได้
3. สิทธิเกี่ยวกับของหมั้น ทรัพย์สินของหมั้นนั้นย่อมตกเป็นสิทธิของหญิงในทันที แต่มีบางกรณีฝ่ายหญิงอาจต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชายก็ได้
กรณีที่ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงโดยไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชาย มีดังนี้
1. เมื่อฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้น (ม. 1439) เช่น ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับหญิง
2. เมื่อชายหรือหญิงตายก่อนสมรส (ม.1441)
3. เมื่อหญิงบอกเลิกสัญญาหมั้น เพราะมีเหตุสำคัญเกิดแก่ชาย (ม.1443)
กรณีที่หญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย มีดังนี้ คือ
1. เมื่อหญิงผิดสัญญาหมั้น (ม. 1439)
2. เมื่อชายบอกเลิกสัญญาหมั้น เพราะมีเหตุสำคัญเกิดแก่หญิง (ม.1442)
อนึ่ง การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้ามีข้อตกลงเรื่องค่าปรับในกรณีผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ (ม.1438)
การสิ้นสุดของการหมั้น
1. กรณีที่คู่หมั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส
2. กรณีมีการบอกล้างสัญญาหมั้น
3. กรณีที่มีการสมรส
4. การสิ้นสุดโดยการบอกเลิกสัญญา
5. การสิ้นสุดโดยความยินยอมของทั้งชายและหญิง
ที่มา: www.SITTIGORN.net
To the INTELLIGENT LAWYER