วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553

การสมรส

ตัวอย่าง
นางปราณีมีลูกสาวกับสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสคนหนึ่ง ต่อมานางปราณีต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ จึงได้จดทะเบียนยกลูกสาวให้เป็นบุตรบุญธรรมของพี่ชายและพี่สะใภ้ ขณะนี้ลูกสาวของดิฉันอายุได้ 18 ปี และมีคนรักอายุ 25 ปี ทั้งคู่ต้องการแต่งงาน แต่ทางพี่ชายและพี่สะใภ้ไม่ชอบ จึงพยายามกีดกัน แต่เจ้าหน้าที่ที่รับจดทะเบียนไม่ยอมจดทะเบียนให้ โดยให้เด็กทั้งสองไปตามพ่อแม่มาให้ความยินยอมก่อน ลูกสาวและคนรักจึงดั้นด้นมาหา ขอให้นางปราณีไปให้ความยินยอม ในการที่เขาทั้งสองจะจดทะเบียนสมรสกัน
ในกรณีดังกล่าวนี้ ผู้เยาว์หรือบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบ 20 ปี บริบูรณ์ กฎหมายได้กำหนดให้ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองก่อน โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ผู้เยาว์ที่มีทั้งบิดาและมารดา จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดา และมารดาทั้งสองคน
2. ผู้เยาว์ที่มีบิดาหรือมารดาเพียงคนเดียว โดยมารดาหรือบิดาอาจถึงแก่ความตาย ถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ในสภาพ หรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ ที่ทำให้ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมได้ ผู้เยาว์จึงต้องได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวได้
3. ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม เนื่องจากบิดามารดาโดยกำเนิด ได้หมดอำนาจปกครองผู้เยาว์ไปตั้งแต่ที่ได้มีการจดทะเบียนรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม เมื่อบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์จะทำการสมรสจึงต้องได้รับความยินยอมของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าในความเป็นจริงผู้เยาว์จะยังมีบิดามารดาที่แท้จริงอยู่ก็ตาม
4. ผู้เยาว์มีผู้ปกครอง หากผู้เยาว์ไม่มีบิดาและมารดา หรือมีแต่บิดาและมารดา ถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้ว จะต้องมีการตั้งผู้ปกครอง ให้แก่ผู้เยาว์ โดยคำสั่งศาล การที่ผู้เยาว์จะทำการสมรส จึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ส่วนบิดามารดา ที่ถูกถอนอำนาจปกครองไปแล้ว ไม่มีสิทธิมาให้ความยินยอมอีก
5. บิดาและมารดาของผู้เยาว์มิได้จดทะเบียนสมรสกัน ถือว่าผู้เยาว์เป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงผู้เดียว การสมรสของผู้เยาว์จึงต้องได้รับความยินยอม เฉพาะจากมารดาเพียงคนเดียว
สำหรับกรณีที่ผู้เยาว์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และมีการแต่งตั้งผู้พิทักษ์ให้แก่ผู้เยาว์ หากผู้พิทักษ์เป็นบุคคลอื่น ที่มิใช่บิดามารดาของผู้เยาว์ ผู้พิทักษ์ที่ศาลแต่งตั้งไม่มีอำนาจให้ความยินยอม ในการที่ผู้เยาว์จะทำการสมรส เพราะการที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บิดามารดา ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้พิทักษ์ ไม่ถือว่าเป็นการถอนผู้ใช้อำนาจปกครอง
หากผู้เยาว์จะทำการสมรสผู้ที่จะให้ความยินยอมคือ บิดาและมารดาที่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้พิทักษ์ไม่มีอำนาจให้ความยินยอม ในการที่ผู้เยาว์จะทำการสมรส แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ผู้เยาว์ ถูกศาลสั่งให้เป็นคน เสมือนไร้ความสามารถ เพราะเหตุจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบที่ถึงขั้น เป็นคนวิกลจริตแล้ว ผู้เยาว์ก็ ไม่อาจกระทำการสมรสได้ เพราะขัดต่อเงื่อนไขของการสมรส
ความยินยอมของบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองที่ให้ผู้เยาว์ทำการสมรสนั้น เมื่อให้ความยินยอมถูกต้องตามวิธีการแล้ว จะถอนความยินยอมไม่ได้
ในกรณีที่ผู้เยาว์ฝ่าฝืนเงื่อนไขทำการสมรส โดยไม่มีความยินยอมจากผู้มีอำนาจให้ความยินยอมแล้ว เฉพาะผู้ที่มีสิทธิให้ความยินยอมเท่านั้นที่จะมีสิทธิ ขอให้ศาลเพิกถอนการสมรส ที่ตกเป็นโมฆียะนี้ได้ ตัวชายหรือหญิงผู้เยาว์ที่เป็นคู่สมรสเองไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอน
ดังนั้นการสมรสของผู้เยาว์ที่ให้มารดาผู้ให้กำเนิดเป็นผู้ให้ความยินยอม ทั้งๆ ที่ผู้เยาว์ถูกยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น ที่มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายแล้ว บิดาบุญธรรมมีอำนาจฟ้อง ขอให้ศาลเพิกถอนการสมรสดังกล่าว ต่อศาลได้ และการฟ้องขอเพิกถอน การสมรสในกรณีที่ผู้เยาว์ทำการสมรส โดยไม่ได้รับความยินยอมนี้มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันทราบการสมรส
อย่างไรก็ตาม สิทธิขอเพิกถอนการสมรส เป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อชายหญิงคู่สมรสนั้นมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อหญิงตั้งท้องแล้ว
เขียนโดย
จิราวรรณ รปศ.501 เลขที่ 6

1 ความคิดเห็น: