วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553

สมรสซ้อน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 บัญญัติว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้การจดทะเบียนสมรสครั้งที่สองในขณะที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังไม่หย่าขาดตามกฎหมายนั้น เราเรียกกันว่า สมรสซ้อนหรือจดทะเบียนซ้อน ซึ่งเป็นข้อห้ามที่มีผลทางกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1495 ว่า การจดทะเบียนสมรสซ้อน ถือเป็นโมฆะ อันส่งผลให้การสมรสครั้งที่สองไม่มีผลทางกฎหมายทันที
ตัวอย่าง
กรณีผลของทะเบียนสมรสซ้อน คือ นายผยอง จดทะเบียนสมรสกับ นางกลิ่น ต่อมาไปจดทะเบียนกับ นางเด็ดดวง เมื่อนางกลิ่นทราบเรื่อง จึงใช้สิทธิ์บอกล้างพร้อมหลักฐานทะเบียนสมรสให้นางเด็ดดวงรับทราบชัดเจน ผลทางกฎหมายระหว่างนายผยอง นางกลิ่น และนางเด็ดดวง คือ
1. ทะเบียนสมรสระหว่างนางเด็ดดวง กับ นายผยอง เป็นโมฆะและถือว่าไม่มีมาแต่ต้น
2. ถ้านายผยองให้ทรัพย์สินใดอันเป็นสินสมรสของนางกลิ่นกับนายผยองแก่ นางเด็ดดวง โดยเสน่หา นางกลิ่น ภรรยาตามทะเบียน มีสิทธิ์ทวงทรัพย์สินคืนได้ครึ่งหนึ่งของมูลค่าทรัพย์สินนั้น เช่น นายผยองซื้อรถยนต์มูลค่าห้าแสนบาทให้นางเด็ดดวง ไม่ว่าก่อนหรือหลังจดทะเบียนซ้อน เมื่อรถซื้อด้วยเงินสินสมรส นางกลิ่นย่อมใช้สิทธิ์เรียกรถยนต์คืนตามมูลค่าครึ่งหนึ่งได้ คือ สองแสนห้าหมื่นบาท เป็นต้น
3. นางกลิ่นอาจใช้สิทธิเรียกค่าทดแทนจากนางเด็ดดวงซึ่งมีสัมพันธ์ทางเพศและได้ รับเงินเลี้ยงดูจากนายผยอง รวมทั้งยังเรียกเงินค่าทดแทนความเสียหายประเภทนี้จากผู้เป็นสามีได้อีกด้วย
4. นายผยองอาจถูกดำเนินคดีอาญาฐานให้ข้อมูลเท็จต่อนายทะเบียน
เมื่อกฎหมายกำหนดชัดให้จดทะเบียนสมรสได้ ครั้งละหนึ่งคนเท่านั้น ย่อมใช้บังคับกับคนไทยอย่างเสมอภาคและทุกศาสนาด้วย ส่วนคำสอนทางศาสนาใดยินยอมให้มีสามีหรือภริยามากกว่าหนึ่งคน ย่อมทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทยที่มีสิทธิ์จดทะเบียนสมรสและรับสิทธิทางกฎหมายต่างๆได้เพียงหนึ่งคนเท่านั้น ส่วนบรรทัดฐานทางสังคมไทยหรือในโลกสากลจักยกย่องสามีหรือภริยาตามทะเบียนสมรสหรือตามกฎหมายที่ตนถือสัญชาติอยู่เท่านั้น ดังนั้น เราจึงควรเลือกพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะเป็นคนอยู่ภายใต้กฎหมายหรือนอกกฎหมาย

เขียนโดย
จุฑานันท์ รปศ.501 เลขที่ 7

1 ความคิดเห็น: