วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

พินัยกรรม(แบบเขียนเอง)

พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
- พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ต้องทำเป็นเอกสารซึ่งจะต้องเขียนด้วยลายมือของผู้ทำ
- พินัยกรรมเองทั้งฉบับ มีข้อความที่ระบุว่าเป็นพินัยกรรม มีวันที่ เดือน ปี ที่ทำ
- พินัยกรรมและ ลงลายมือชื่อของตน จะใช้การพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้
- พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนั้น ถ้าหากมีการแก้ไข ขูดลบ ตก เติมพินัยกรรม ผู้ทำ พินัยกรรมนั้นจะต้องทำด้วยมือของตนเองจะให้ผู้อื่นทำไม่ได้ และจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้
จุดที่แก้ไข ขูดลบ ตก เติมด้วย หากมิได้ทำดังกล่าวถือว่า ไม่ได้มีการแก้ไข ขูดลบ ตก เติม แต่อย่างใด
- พินัยกรรมแบบนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากแต่ประการใด หากผู้ทำพอที่จะมีความรู้อ่านออก เขียนได้ก็คงสามารถกระทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนี้ได้ โดยที่ไม่ต้องมีพยานรู้เห็น

ในการทำพินัยกรรมนี้ จุดที่มีความสำคัญจุดหนึ่งตามกฏหมายกำหนดให้ พินัยกรรมจะต้องระบุว่าวันที่ / เดือน /ปี ที่ทำ พินัยกรรม เช่น ระบุว่า วันที่ 15 กันยายน 2537 เป็นต้น ต่อจากนั้นย่อหน้าถัดไปต้องระบุถึงตัวของเรา ชื่ออะไร นามสกุลอะไร อายุเท่าไร อยู่บ้าน เลขที่ ถนน หมู่ ตำบล อำเภอ จังหวัด
ตัวอย่าง เช่น
ข้าพเจ้านายสิทธิชัย กาญจนา อายุ 31 ปี อยู่ บ้านเลขที่ 34 ถนนบ้านไร่ หมู่ 5 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น ที่จะต้อง ระบุอย่างนี้ก็เพื่อให้รู้ว่าใครเป็นผู้ทำพินัยกรรม และผู้ตายมีอายุเกินกว่า 15 ปี ตามที่กฏหมายกำหนดให้ทำพินัยกรรมได้หรือไม่
ข้อความต่อไปนี้เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นว่า จะให้ทรัพย์สินของเราตกทอดแก่บุคคลใด เมื่อเราเสียชีวิตไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าให้ทรัพย์สินของเราตกทอดแก่ผู้อื่นในขณะที่เรายังมี ชีวิตอยู่ ตรงนี้เป็นจุดที่มีความสำคัญมากทีเดียว เพราะจะเป็นพินัยกรรมได้ต้องมีข้อความดังกล่าว ข้างต้นนี้
ตัวอย่าง เช่น
"ข้าพเจ้าขอทำพินัยกรรมว่าเมื่อข้าพเจ้าถึงแก่ความตายแล้ว ให้ทรัพย์สินของ ข้าพเจ้าตกแก่บุคคลดังต่อไปนี้" แล้วก็ควรระบุทรัพย์สินที่ตั้งใจจะยกให้โดยย่อหน้าลงมาเป็น ข้อ ๆ เช่น
ข้อ 1 ให้เงินข้าพเจ้าจำนวน 1,000,000 บาท ที่ฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขากาญจนบุรี ตกแก่นายธรรมนูญ เทียนทอง
ข้อ 2 ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1233 ตำบลวังคัง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี รวมสิ่งปลูก
สร้างบนที่ดินดังกล่าว ตกแก่นางสมศรี เจริญลาภ
ข้อ 3 ให้รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า 1 คัน หมายเลขทะเบียน ป-6789 ราชบุรี ตกแก่นางสำเภา ชมสวน หรือหากประสงค์จะยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ใครคนใดคนหนึ่ง ก็สามารถเขียนได้ว่า เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรมไปแล้วให้ทรัพย์สินทั้งหมดของข้าพเจ้าตกได้แก่ นายธนู องอาจ แต่เพียงผู้เดียว
ย่อหน้าต่อไปควรระบุว่า ข้าพเจ้าขณะทำพินัยกรรมฉบับนี้ มีสติสัมปชัญญะปกติบริบูรณ์ดี ย่อหน้าต่อไปหรือตอนท้ายที่สุดของพินัยกรรมที่สำคัญ คือต้องลงลายมือชื่อหรือลายเซ็นของผู้ทำ พินัยกรรม และควรวงเล็บชื่อและนามสกุลด้วยตัวบรรจงไว้อีกด้วย แต่จะพิมพ์ลายมือแทนการ ลงชื่อไม่ได้
เมื่อทำเสร็จดังนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าหนังสือฉบับนี้เป็นพินัยกรรมไปแล้ว แต่หากผู้ทำพินัยกรรม ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพินัยกรรมที่ทำไว้แล้วนั้น ก็สามารถทำได้แต่จะต้องลงลายมือชื่อของตน ตรงที่ได้ แก้ไข ขูดลบ ตก เติมนั้นไว้ด้วย พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องมีพยานในพินัยกรรม
ข้อควรจำ
1.พินัยกรรมมีความสำคัญ ก่อนที่จะทำพินัยกรรมต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ดีว่า เจตนายก ทรัพย์สินให้ใคร อย่างไร เพราะการทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายของเรานั้น ไม่จำเป็นต้อง ให้ทายาทตามกฎหมายของเราเท่านั้น หากพินัยกรรมได้ทำไปแล้วและถูกต้องก็ต้องบังคับตามพินัยกรรม ทายาทอื่นจะมาอ้างขอแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่ทำยกให้ผู้อื่นไปแล้วมิได้ เพราะพินัยกรรมคือส่วนเจตนาที่สำคัญของเจ้ามรดกที่กฎหมายยอมรับและบังคับให้
2.ประการสำคัญ พินัยกรรมนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนด บางครั้งมีความละเอียดปลีกย่อยออกไปมากยากแก่การอธิบายให้เข้าใจได้โดยละเอียด เพียงหนังสือฉบับนี้ ถึงแม้เรามีความรู้ พออ่านออกเขียนได้ ก็ควรจะทำที่อำเภอ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยบริการจัดทำพินัยกรรมให้เรา เรียกว่า พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง เมื่อเราไปพบเจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอ แสดงความประสงค์จะทำพินัยกรรม เจ้าหน้าที่ก็จะจัดทำให้
พินัยกรรมทุกแบบ เมื่อได้ทำขึ้นแล้วนั้น ผู้ทำพินัยกรรมมีสิทธิจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
ทุกประการ สามารถยกเลิกได้โดยแก้ไข หรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่ ซึ่งถือว่าพินัยกรรมฉบับเก่าถูกเพิกถอนไปแล้ว หรือสามารถฉีกทำลายพินัยกรรมเสียก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ทำพินัยกรรมโดยตรง

เขียนโดย
น.ส.จุฑานันท์ ฉันทนันทรัตน์ เลขที่ 7 รปศ 501

1 ความคิดเห็น: